1. หลักการและเหตุผล

        มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ ทั้งการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัยประยุกต์ การวิจัยสถาบัน รวมไปถึงการสนับสนุนงานวิชาการรับใช้สังคม  โดยส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างงานวิจัยของคณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผลิตผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคม รวมทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีประโยชน์สู่สาธารณะ เพื่อก่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในเชิงนโยบาย เชิงวิชาการ เชิงสาธารณะ เชิงสร้างสรรค์ เชิงพื้นที่ และเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งเน้นให้นักวิจัยสามารถคิดต่อยอดและเพิ่มมูลค่างานวิจัยได้ ขณะเดียวกันผลงานวิจัยต้องสามารถแข่งขันในเวทีวิชาการระดับชาติได้ด้วย จากความสำคัญดังกล่าว มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรม จึงได้จัดให้มีการประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 โดยปี พ.ศ. 2563 ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ครบปีที่ 28 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  จึงได้กำหนดให้มีการประชุมวิชาการระดับชาติ วันที่ 26-27 มีนาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นเวทีสาธารณะด้านการวิจัยและวิชาการให้กับคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการและนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความรู้ อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ตลอดจนพัฒนางานวิจัยไปสู่การสร้างนวัตกรรม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่เข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง

2. วัตถุประสงค์

        2.1 เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัย  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการ จากคณาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตลอดจนบุคคลทั่วไป
        2.2 เพื่อสร้างความร่วมมือในการขยายเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภายนอก
        2.3 เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของมหาวิทยาลัย ตลอดจนการพัฒนานักวิจัยให้กับสังคมไทย อันจะขับเคลื่อนงานวิจัยให้ตอบสนองต่อการพัฒนาของประเทศ
        2.4 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลงานไปสู่การสร้างนวัตกรรมวิจัย ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ

3. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

        3.1 คณาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษา  ได้นำเสนอผลการวิจัยแบบบรรยายและแบบโปสเตอร์   นำไปสู่การเผยแพร่ผลงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สู่สังคมและแวดวงวิชาการ
        3.2 คณาจารย์ นักวิจัย ได้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภายนอก
        3.3 เกิดการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของมหาวิทยาลัย ตลอดจนการพัฒนานักวิจัยให้กับสังคมไทย อันจะขับเคลื่อนงานวิจัยให้ตอบสนองต่อการพัฒนาของประเทศ
        3.4 คณาจารย์ นักวิจัย ได้พัฒนาผลงานไปสู่การสร้างนวัตกรรมการวิจัย ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ

4. หน่วยงานผู้รับผิดชอบ

        4.1 สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
        4.2 สำนักวิชา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประกอบด้วย สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ สหเวชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ การจัดการ วิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร เทคโนโลยีการเกษตร เภสัชศาสตร์ แพทยศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ

5. วันและสถานที่การจัดประชุม

        วันที่ 26-27 มีนาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

6. กิจกรรมการจัดประชุม

        6.1 การบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก
        6.2 การบรรยายพิเศษจากอาจารย์ดีเด่นด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
        6.3 การนำเสนอผลงานวิชาการในรูปแบบบรรยาย (Oral Presentation) และ แบบโปสเตอร์ (Poster Presentation)
        6.4 การแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
        6.5 เวทีสำหรับการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าผู้ที่ได้รับทุนวิจัยบัณฑิตศึกษา

7. กลุ่มสาขาของการประชุมวิชาการ  

        7.1 กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครอบคลุมถึง งานวิจัยทางด้านวัฒนธรรมศึกษา ปรัชญาและศาสนา  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา  ภูมิภาคศึกษา อาเซียนศึกษา  การศึกษา พัฒนาสังคม สังคมวิทยา จิตวิทยา ภาษา และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง

        7.2 กลุ่มรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ครอบคลุมถึง รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นิติศาสตร์ การเมืองการปกครอง และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง

        7.3 กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครอบคลุมถึง งานวิจัยทางด้านเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ชีวเคมี นิเวศวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพ วิทยาศาสตร์ศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ เทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรรมวัสดุ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเคมีและกระบวนการ วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ วิศวกรรมขนส่ง วิศวกรรมปิโตรเคมี และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง

        7.4 กลุ่มคณิตศาสตร์และสถิติ ครอบคลุมถึง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์เชิงคำนวณ คณิตศาสตร์การจัดการ คณิตศาสตร์ประยุกษ์ สถิติ และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง

        7.5 กลุ่มนวัตกรรมการสอนและสารสนเทศศาสตร์ ครอบคลุมถึง นวัตกรรมการเรียนการสอนเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีมัลติมีเดียและแอนิเมชัน เทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการสารสนเทศดิจิทัล วิศวกรรมซอฟต์แวร์ คอมพิวเตอร์ประยุกต์ และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง

        7.6 กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ครอบคลุมถึง เทคนิคการแพทย์ อนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย กายภาพบำบัด กายวิภาคศาสตร์ ชีวเวชศาสตร์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์เภสัชกรรม เภสัชวิทยา สรีรวิทยา วิทยาศาสตร์การแพทย์ แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ การพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน การพยาบาลครอบครัวและการผดุงครรภ์ การพยาบาลอนามัยชุมชน การพยาบาลเด็กและวัยรุ่น การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช สาธารณสุขศาสตร์ และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง

        7.7 กลุ่มงานวิจัยเชิงพื้นที่ ครอบคลุมถึง งานวิจัยเชิงพื้นที่ ชุมชน สังคม งานวิทยาศาสตร์เพื่อชุมชน พัฒนาชุมชน และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง

        7.8 กลุ่มการจัดการ ครอบคลุมถึง งานการจัดการ บัญชี เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ การตลาด การเงินและการธนาคาร การจัดการโลจิสติกส์ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง

8. การส่งผลงานและการลงทะเบียนเข้าร่วมงาน

        ผู้สนใจเสนอผลงานวิจัย สามารถส่งผลงานในรูปแบบของบทคัดย่อความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4 หรือ บทความฉบับเต็มความยาวไม่เกิน 7 หน้ากระดาษ A4  ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อนำเสนอภาคบรรยาย (Oral Presentation) หรือภาคโปสเตอร์ (Poster Presentation) และยังไม่ได้มีการเผยแพร่ที่ประชุมวิชาการอื่นมาก่อน โดยผู้นำเสนอผลงานต้องจัดทำรูปแบบเอกสารตามรูปแบบของงานประชุมซึ่ง download แบบฟอร์มได้ที่เว็บไซต์ :  https://research.wu.ac.th ผู้นำเสนอใช้เวลาในการนำเสนอ 15 นาที และกรุณาระบุชื่อผู้นำเสนอให้ชัดเจน

        การพิจารณาผลงานที่ส่งเข้าร่วมงานประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่  12 จะได้รับการพิจารณากลั่นกรองและประเมินคุณภาพทางวิชาการ (Peer Reviews) จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่ต่ำกว่า 2 ท่าน/บทความ การจัดทำเอกสารประกอบการประชุมจะนำเสนอในระบบออนไลน์ เท่านั้น บทคัดย่อที่ผ่านการพิจารณาจากงานประชุมผู้เขียนสามารถนำไปเขียนเป็นบทความฉบับเต็ม (Full Paper) เพื่อส่งตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการต่อไปได้ สำหรับบทความฉบับเต็ม (Full Paper) ที่ตีพิมพ์ใน Proceedings งานประชุมวิชาการ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 12 แล้ว ผู้เขียนจะไม่สามารถนำไปตีพิมพ์ในวารสารอื่นได้ หากมีการนำไปตีพิมพ์ในวารสารอื่นจะถือว่าเป็นการซ้ำซ้อน

        งานประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” จัดการประชุมวิชาการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ “การประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ระดับอุดมศึกษา”

        รูปแบบการเผยแพร่

  1. Walailak Journal of Social Sciences (ฐานข้อมูล TCI กลุ่ม 1)
  2. WMS Journal of Management (ฐานข้อมูล TCI กลุ่ม 1)
  3. วารสารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ (ฐานข้อมูล TCI กลุ่ม 2)
  4. วารสารนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ฐานข้อมูล TCI กลุ่ม 2)

*กรณีการแจ้งความประสงค์เพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ จะต้องผ่านการพิจารณาคุณภาพเข้าสู่กระบวนการของแต่ละวารสารตามขั้นตอนปกติต่อไป!

9. กลุ่มเป้าหมาย 300 คน ประกอบด้วย

        9.1 นักศึกษาระดับปริญญาตรี/โท/เอก จากทั่วประเทศ          100  คน
        9.2 อาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย จากทั่วประเทศ                100  คน
        9.3 ชุมชน องค์กรภาครัฐ เอกชน บุคคลทั่วไป                  100  คน

10. อัตราค่าลงทะเบียน

        10.1 นักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์              1,000 บาท / บทความ
        10.2 นักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์             2,000 บาท / บทความ
        10.3 อาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย บุคคลทั่วไป                  3,000 บาท / บทความ
        10.4 ลงทะเบียนเข้าร่วมฟังการบรรยายโดยไม่เสนอผลงาน      1,000 บาท
(ได้รับเอกสารประกอบการประชุม อาหารกลางวัน อาหารว่างและเครื่องดื่ม)
        10.5 ลงทะเบียนเข้าร่วมงานไม่รับเอกสารและไม่รับอาหาร         ไม่มีค่าใช้จ่าย

11. ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

คุณโกสินธุ์ ศิริรักษ์ หรือ คุณสุจินดา ย่องจีน สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ห้อง 206 ชั้น 2 อาคารวิจัย เลขที่ 222 ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 80160
โทรศัพท์  0-7567-3565, 0-7567-3567   โทรสาร 0-7567-3553
E-mail: wuird.walailak@gmail.com
สามารถติดตามข่าวสารการประชุมและกำหนดการประชุมพร้อมลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://research.wu.ac.th